Labels

1คุณสมบัตินักบิน 2สอบนักบิน ATPL Checklist DDM Divert Emirates ILS LOC LowVisibility Multitasking Priority STAR SingaporeAirlines Skill TakeOff Twitter a380 กพ กสพท การทำงาน การทำงานนักบิน การศึกษา การสอบ การเรียน ขึ้นเครื่องบิน ข่าว ข้อสอบ ข้อสอบความถนัด ความถนัด ความรู้การบิน ความรู้นักบิน จากเม็ดยาสู่ฟ้ากว้าง จิตวิทยา ทหาร ทหารบก ทันตแพทย์ นักบิน นักบินทหารบก นักบินอาชีพ ประสบการณ์ ปริญญาตรี ผู้โดยสาร ฝึกIQ พัฒนาตัวเอง ลับสมอง วัดIQ สนามบินดอนเมือง สมาคมนักบินไทย สอบนักบิน สัมภาษณ์นักบิน สายการบิน สายการบินต่างชาติ เครื่องบิน เชาว์ เตรียมสอบ เทคนิค เที่ยวบิน เภสัช เภสัชกร เรื่องเล่า เส้นทางชีวิต เส้นทางอาชีพนักบิน เหตุการณ์ แถลงการณ์ แนะนำเกม แพทย์ แอร์โฮสเตส

Thursday, October 27, 2022

จากเที่ยวบิน JT330 ที่เครื่องบิน Boeing 737 เกิดเปลวไฟ นักบินทำอะไรบ้าง? และผู้โดยสารล่ะ?

 นักบินทำอะไรถ้าเครื่องยนต์เกิดอะไรบางอย่างขึ้น

แล้วผู้โดยสารล่ะ...ทำอะไรดี?


.
🔷เย็นวานนี้ 26 ต.ค. 2565 ที่สนามบินจาร์กาต้า เที่ยวบิน jt330 ที่ทำการบินด้วยเครื่องบิน Boeing 737 กลับลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินต้นทางด้วยเหตุ Engine Failure After Take-Off (EFATO) ที่เครื่องยนต์หมายเลข 1* เกิดประกายไฟขึ้นดังภาพด้วยความปลอดภัยหลังทำการบินไปได้ 30นาที

(*ในข่าวใช้คำว่า เครื่องยนต์ด้านซ้ายแต่ในทางการบินจะไม่เรียกซ้ายขวา เพราะคำว่าซ้ายหรือขวาของนักบิน แอร์โฮสเตส สจ๊วต ผู้โดยสาร ผู้มองเห็นจากตำแหน่งต่าง ๆ จากภาคพื้น อาจแตกต่างกัน แต่จะเรียกเครื่องยนต์แต่ละเครื่องเป็นหมายเลข เช่น กรณีของเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์ก็จะเรียกเครื่องยนต์ฝั่งที่นิยมให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือฝั่ง Port ว่าเครื่องยนต์หมายเลข 1 ซึ่งก็คือ Left Engine ที่กล่าวถึงในข่าวนี้)

ในการรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ ในรายละเอียดเชิงลึกของเครื่องบินต่างรุ่นกัน ต่างสายการบิน ก็จะมีความแตกต่าง สิ่งที่หญิงนำมาแชร์เป็นหลักการคร่าว ๆ 3 ขั้นตอน (ไม่ใช่รายละเอียดทั้งหมด) คือ
----------
🔷1. อันดับแรก
หากเครื่องยนต์เกิดขัดข้องในขณะที่ความเร็วของเครื่องบินหลังเร่งเครื่องบนต์เพื่อทำการ Take-off บนรันเวย์ยังไม่ถึงความเร็วตัดสินใจ (v1) นักบินจะพิจารณาทำการหยุดบนรันเวย์
.
แต่หากเครื่องยนต์เกิดขัดข้องตั้งแต่เมื่อเครื่องบินได้เร่งเครื่องยนต์บนรันเวย์จนผ่านความเร็วถึงจุดตัดสินใจ (v1) ไปแล้ว นักบินจะพิจารณานำเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเพราะ ณ ขณะนั้นการ Take-off ขึ้นมีความปลอดภัยมากกว่า

เพราะการทำความเร็วถึงจุด v1 หมายความว่าเครื่องบินได้ใช้พื้นที่ของรันเวย์ไปมากจนเหลือ ณ ขณะนั้นเหรือระยะทางของรันเวย์ให้ทำการหยุดได้อย่างปลอดภัยน้อยกว่าบินขึ้นฟ้า แล้วค่อยไปจัดการความขัดข้องที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยก่อนกลับมาลงจอด
.
-> กรณีผู้โดยสารเห็นเปลวไฟเกิดขึ้นที่เครื่องยนต์แล้วเห็นว่า นักบินไม่ทำการหยุดบนรันเวย์ นั่นไม่ได้เป็นเพราะนักบินไม่ทราบ

การที่เครื่องยนต์ข้างใดข้างหนึ่งเกิดสิ่งใดขึ้นตามที่ผู้โดยสารเห็น นอกจากนักบินจะรับรู้สิ่งนั้นได้ผ่านระบบ monitor ก็ยังรับรู้ได้ผ่านอาการของเครื่องบินที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ไม่ว่าจะยังไงนักบินก็รู้เรื่องที่เกิดขึ้น คล้ายกรณีที่ถ้ารถเกิดเครื่องสะดุด เพลาหัก สลักหาย หัวเทียนห่าง ยางแฟบ แหนบตาย เอ้ย... พอแล้ว แล้วมันส่งผลต่ออาการรถทำให้คนขับรับรู้ได้😁
----------
🔷2. อันดับต่อมา
ในการทำงานของนักบิน ทุกครั้งก่อนขึ้นบินนักบินจะวางแผนเตรียมความพร้อมไว้หลายอย่างรวมทั้งกรณี EFATO นี้ด้วย

นักบินทั้งสองคนจะตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าหากเกิดเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นเมื่อไหร่จะทำอย่างไร ฉะนั้น... เมื่อไหร่ก็ตามที่สถานการณ์เกิดขึ้นนักบินก็จะสามารถรับมือได้ทันที ในบางสนามบิน บางสายการบินก็จะทำการออกแบบแผนการนั้นรองรับไว้ล่วงหน้าผ่าน Chart ที่เรียกว่า Special engine failure procedure ซึ่งในการออกแบบนั้นจะมีทั้งทิศทางว่าจะบินไปทางไหน องศาไหน ความสูงอะไร ความเร็วเท่าไหร่
.
#กรณีของความสูง
การรับมือต่อสถานการณ์ EFATO ไม่จำเป็นต้องรีบทำการบินลงมาอย่างเร็วที่สุด ในขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือต้องรีบไต่เพดานบินขึ้นไปให้ถึงความสูงจุดหนึ่ง เช่น ประมาณ 400ฟุต เหนือพื้นดิน เพื่อทำการ secure engine (การออกแบบของเครื่องยนต์ทำให้ความสูงมีความสำคัญมากกว่า ไม่ต้องจัดการกับเครื่องยนต์ในทันที) ในขณะที่ secure engine ก็จะยังคงไต่ความสูงขึ้นไป ดังรูปที่ 2

 

สังเกตหมายเลข 1 สีชมพูของรูปที่ 2
ตรงวงกลมที่มีคำว่า MSA(สีแดง) ย่อมาจาก Minimum Sector Altitude อันนี้เป็นความสูงขั้นต่ำที่ต้องทำการบินเพื่อความปลอดภัยจากสิ่งปลูกสร้างหรือธรรมชาติบริเวณนั้น(เช่นภูเขา) นักบินจะต้องรักษาความสูงไม่ให้ต่ำกว่าค่านี้กระทั่งได้ทำการบินถึงระยะประชิดสนามบินหรือ approach ถึงตำแหน่งที่ปลอดภัยในการลดความสูงลง ซึ่งจากรูปสังเกตได้ว่าเที่ยวบินนี้หลังเกิดเหตุนักบินไต่ความสูงไปที่ 3000ฟุต และรักษาความสูงนี้ไประยะหนึ่งก่อนจะลดความสูงไปที่ 2000ฟุต ซึ่งจุดที่เริ่มลดความสูงลงนี้เป็นจุด ARKAP ตามหมายเลข 2 แล้วรักษาความสูง 2000ฟุต ไปถึงระยะ FF25R ก่อนจะค่อย ๆ ลดความสูงลงกระทั่งลงจอดอย่างปลอดภัยที่สนามบิน นี่คือประเด็นเรื่องของความสูง
.
#กรณีของทิศทาง
ต่อมาเรื่องทิศทางเครื่องบิน จะเห็นได้ว่า หลัง Take-off ขึ้นไปในเที่ยวบินนี้ นักบินไม่ได้หันทิศทางเครื่องบินกลับมายังสนามบินทันที แต่ได้บินออกทะเลเพื่อไปตั้งหลัก เตรียมความพร้อม จัดการเรื่องต่าง ๆ ก่อนจะบินกลับเข้ามา อันนี้ก็คือวิธีการรับมือตามปกติที่หญิงค่อนข้างเชื่อว่า นักบินทั่วโลกมีวิธีการรับมือ EFATO แบบนี้เหมือนกัน

-> กรณีผู้โดยสารกังวลใจไม่ว่าจะด้วยกรณีใด เช่น ประกายไฟยังไม่ดับ สงสัยว่าทำไมเครื่องบินยังไม่เลี้ยวหัวกลับ ทำไมเครื่องบินยังไต่ความสูง/ไม่รีบลดเพดานบิน สามารถแจ้งพนักงานต้อนรับได้ ทางลูกเรือจะนำข้อมูลคอนเฟิร์มกับนักบินต่อไป

จริง ๆ ในขั้นตอนการทำงานของนักบินก็มีขั้นตอนที่จะแจ้งให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและผู้โดยสารทราบอยู่แล้ว แต่ด้วยการจัดลำดับขั้นตอนในการทำงาน ขั้นตอนการ communicate นั้นจะเกิดขึ้นหลังจากที่นักบินได้ทำการจัดการกับเครื่องบิน/สนามบิน/สายการบิน...อะไรต่าง ๆ เรียบร้อยซึ่งมันจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง (ถึงแม้เครื่องยนต์จะถูกออกแบบมาให้ไม่ต้องรีบกลับมาเป็น Priority แรก แต่ภาระงานช่วงนั้นเยอะมากจริง ๆ) ซึ่งในบางครั้งด้วยภาระงาน กัปตันก็อาจจะไม่ได้แจ้งผู้โดยสารเอง แต่จะขอให้หัวหน้าพนักงานต้อนรับฯแจ้งผู้โดยสารแทน
----------
🔷3. ถ้ามีกำหนดการเดินทางในเที่ยวบินเดียวกันหลังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ควรทำอย่างไร?
สำหรับเครื่องบินจะมีการดำเนินการตามขั้นตอน จะไม่ได้นำกลับมาใช้งานในระยะเวลาแค่ไหนก็ว่ากันไปแต่สำหรับผู้โดยสาร สามารถเดินทางได้ตามปกติ เช่นในกรณีที่เกิดเหตุขึ้นในครั้งนี้ ในรูปที่ 2 ...

ในวันที่ 26 ต.ค. หลังจากที่ได้ทำการ divert กลับมา (ด้วยเครื่องบินทะเบียน PK-LKK) ก็ได้ทำการเดินทางจาก Jakarta (CGK) ไปยัง Palembang (PLM) ในเที่ยวบินนี้อีกครั้งโดยใช้เครื่องบินลำใหม่ทะเบียน PK-LOP แล้วในวันถัดไป(ซึ่งก็คือวันนี้ 27 ต.ค.) ในเที่ยวบินเดิมได้เดินทางตามปกติโดยการใช้เครื่องบินทะเบียน PK-LSH
----------
ซึ่งอันนี้ก็คือหลักการเบื้องต้นในการรับมือกับสถานการณ์เช่นในกรณีเคสนี้ สำหรับทั้งในมุมของผู้สนใจในการบินและผู้โดยสารค่ะ

ด้วยรัก
<3