Labels

1คุณสมบัตินักบิน 2สอบนักบิน a380 ATPL Checklist DDM Divert Emirates ILS LOC LowVisibility Multitasking Priority SingaporeAirlines Skill STAR TakeOff Twitter กพ กสพท การทำงาน การทำงานนักบิน การเรียน การศึกษา การสอบ ข้อสอบ ข้อสอบความถนัด ข่าว ขึ้นเครื่องบิน ความถนัด ความรู้การบิน ความรู้นักบิน เครื่องบิน จากเม็ดยาสู่ฟ้ากว้าง จิตวิทยา เชาว์ เตรียมสอบ แถลงการณ์ ทหาร ทหารบก ทันตแพทย์ เทคนิค เที่ยวบิน นักบิน นักบินทหารบก นักบินอาชีพ แนะนำเกม ประสบการณ์ ปริญญาตรี ผู้โดยสาร ฝึกIQ พัฒนาตัวเอง แพทย์ เภสัช เภสัชกร เรื่องเล่า ลับสมอง วัดIQ สนามบินดอนเมือง สมาคมนักบินไทย สอบนักบิน สัมภาษณ์นักบิน สายการบิน สายการบินต่างชาติ เส้นทางชีวิต เส้นทางอาชีพนักบิน เหตุการณ์ แอร์โฮสเตส

Friday, November 25, 2022

ทำไมเครื่องบินต้องมีหน้ากากออกซิเจน? มันจะตกลงมาเมื่อไหร่? เพราะอะไร?

ใครชอบดูซีรีส์/หนัง/ละคร ที่มีฉากหน้ากากออกซิเจนบนเครื่องบินปล่อยลงมาแล้วสงสัยว่า... ในความเป็นจริงมันจะเกิดขึ้นตอนไหน? ในสถานการณ์ยังไงล่ะก็... ✈ ข่าวการ Divert ไปลงจอดที่ Frankfurt ของ Singapore airlines เมื่อวันพฤหัสบดี ( 24 พ.ย. 2565 ) ที่ผ่านมาช่วยอธิบายได้ในระดับหนึ่งเลยค่ะ (และข่าวนี้ยังแถมเรื่องทิ้งน้ำมัน - fuel dumping / fuel jettison ไปในตัวด้วย)


.
🔶เนื่องจากข่าวนี้มี 2เรื่องหลัก ๆ ที่หลายคนสนใจ
1. หน้ากากออกซิเจนที่เกี่ยวข้องกับการปรับความดันในห้องโดยสาร🔶 ( cabin pressurisation ที่ขีดเส้นใต้ในรูป 2 )
กับ 2. การทิ้งน้ำมัน🔷 (ดังที่ช่างภาพที่ภาคพื้นถ่ายไว้ได้ในรูป 4) หลังนักบินตัดสินใจ Divert ไปลงจอดหลังบินขึ้นมาจาก London แล้วประมาณ 30นาที

และเนื่องจาก "เรื่องทิ้งน้ำมัน" น่าจะใช้เวลาสั้นกว่า หญิงจึงขอหยิบเรื่องนี้มากล่าวถึงก่อน

🔶 การทิ้งน้ำมันเมื่อตัดสินใจ Divert ไปลงจอด ไม่จำเป็นต้องทำในทุกกรณี -> ในเครื่องบินหลายรุ่น เช่น รุ่นที่หญิงขับ ก็ไม่ได้ติดตั้งระบบทิ้งน้ำมัน (เพราะมันไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเครื่องบินทุกลำ)

+ การอธิบายว่าทำไมการทิ้งน้ำมันไม่ใช่เรื่องจำเป็นจนถึงขั้นบริษัทผลิตเครื่องบินไม่ติดตั้งระบบทิ้งน้ำมันเอาไว้ในเครื่องบินหลายรุ่น... ต้องเริ่มต้นที่การอธิบายว่า "ทำไมต้องทิ้งน้ำมัน? และต้องทิ้งเมื่อไหร่?"

2.1- เครื่องบินทุกรุ่นได้มีการคำนวณน้ำหนักสูงสุดในการ Take-off และ Landing อยู่แล้วเรียกว่า
- Maximum Take-off weight (MTOW) และ
- Maximum Landing weight (MLW) ตามลำดับ
การทิ้งน้ำมันทำเพื่อ...ไม่ให้น้ำหนักรวมของเครื่องบินตอน Landing เกิน MLW

2.2- ทำไมระบบทิ้งน้ำมันไม่ได้ติดตั้งในเครื่องบินทุกลำ?
ก่อนอื่นทุกคนลองนึกภาพการเจาะรูขวดน้ำดื่มเพื่อปล่อยให้น้ำในขวดไหลออกมานะคะ
ลองนึกดูว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าที่น้ำข้างในขวดถึงจะออกมาหมด ค่ะ... การทิ้งน้ำมันเครื่องบินก็เช่นกัน มันต้องใช้เวลา นั่นหมายความว่า...
- ระบบ fuel dumping / fuel jettison นี้ จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อตัดสินใจที่จะกลับไปลงจอดในขณะที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกบีบคั้นด้วยเวลา ไม่จำเป็นต้องรีบลงจอดโดยเร็วนัก (อย่างในข่าวนี้จากข้อมูลเบื้องต้น คาดการณ์คร่าว ๆ ว่าอาจจะเกิดอะไรบางอย่างขึ้นตอนเวลา 11.46 แล้วลงจอดเรียบร้อยในเวลา 13.00 (ดังรูป 3)-> ซึ่งใช้เวลาอยู่ชั่วโมงกว่าเลยทีเดียว)

- ในกรณีที่จะต้องรีบลงจอดจริง ๆ มีวิธีการลงจอดที่เรียกว่า Overweight landing คือลงจอดในตอนที่น้ำหนักเครื่องบินมากกว่า MLW
ถ้ามีใครสงสัยว่า Overweight landing มันจะดีเหรอ? คำตอบคือ Overweight landing เป็นวิธีการ Landing แบบหนึ่งที่มีมาตรการเพิ่มเติมรองรับ ถ้านักบินตัดสินใจเช่นนี้แล้ว นั่นหมายความว่าสถานการณ์ตอนนั้นการลงจอดในขณะที่น้ำหนักมากกว่า MLS มันดีกว่าการชักช้าเสียเวลาเพื่อลดน้ำหนักเครื่องบินลง(ด้วยการทิ้งน้ำมัน)แล้ว แต่...นี่ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ว่าทำไมเครื่องบินบางรุ่นไม่ติดตั้งระบบทิ้งน้ำมัน!

2.3- สาเหตุอยู่ที่น้ำมัน คำตอบก็อยู่ที่น้ำมัน
ในการบินแต่ละครั้งนักบินต้องคำนวณจำนวนน้ำมันที่ต้องเติมซึ่งมันก็ตรงตัวว่า "ถ้าเป็นเที่ยวบินที่บินนานมากก็ต้องใช้น้ำมันมาก" -> น้ำมัน = น้ำหนัก -> เติมน้ำมันมาก = เติมน้ำหนักเครื่องบินมาก -> หลังจากที่ทำการบินไปน้ำมันก็จะลดลงเรื่อย ๆ -> พอน้ำมันลดลงน้ำหนักรวมของเครื่องบินก็จะเบาขึ้น ยิ่งบินน้ำหนักยิ่งเบา

- ฉะนั้น... ถ้ามีช่วงไหนที่ fuel jettison จะถูกนำมาใช้งาน ก็จะช่วงที่เพิ่ง take-off ขึ้นมาใหม่ ๆ ตลอดจนช่วงเวลาหลังจากนั้นจนกว่าน้ำมันถูกใช้ไปจนน้ำหนักของเครื่องบินเหลือไม่เกิน MLW -> ความเหมาะสมในการติดตั้งระบบทิ้งน้ำมันจึงมักอยู่ในเครื่องบินพิสัยไกลเช่นในเที่ยวบิน Singapore airlines 317 ดังข่าวที่ทำการบินด้วยเครื่องบินรุ่น Airbus 380 บินจาก London มายัง Singapore ที่ใช้เวลาบินประมาณ 13ชั่วโมง

- และในกรณีนี้อาจจะเป็นคำตอบได้ด้วยว่า ทำไมเที่ยวบินพาณิชย์ต้องคำนวณการเติมน้ำมันทุกเที่ยวบิน ทำไมไม่เติมน้ำมันให้เต็มถังในทุก ๆ ครั้ง -> คำตอบเกี่ยวข้องกับทั้ง MTOW ที่ถ้าเติมน้ำมันมากจนน้ำหนักเครื่องบินเกินค่านี้ เครื่องบินก็ทำการ take-off บินขึ้นจากสนามบินต้นทางไม่ได้ และหากเกิดความจำเป็นต้องรีบกลับมาลงจอดหลัง take-off มาได้ไม่นาน (จนน้ำหนักเครื่องบินเกินค่า MLW) ก็จะเพิ่มความเสี่ยงไปโดยไม่จำเป็น -> จึงจำเป็นต้องคำนวณปริมาณการเติมน้ำมันอยู่ทุกครั้ง <- ไม่ใช่ไม่เติมเต็มถังเพื่อประหยัดเงิน (และในทางตรงกันข้าม บางครั้งการเติมเยอะก็ยิ่งประหยัด ไว้ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง)

- สำหรับเครื่องบินรุ่นที่หญิงขับซึ่งเป็นเครื่องบินพิสัยกลาง กรณีเกิดเหตุจำเป็นต้อง divert แล้วคำนวณน้ำหนักตอนลงจอดแล้วพบว่า น้ำหนักตอนนั้นจะเกิน MLW ก็จะมีโอกาสที่น้ำหนักส่วนเกินที่ต้อง*จัดการนั้นไม่มากเท่าเครื่องบินพิสัยไกล ซึ่ง*วิธีจัดการกับมันก็ยังมีหลายวิธีที่ไม่ต้องใช้ fuel dumping เพราะย้อนกลับไปที่วงเล็บล่าสุด (การทำงานของ fuel damping / fuel jettison นี้ใช้เวลานาน) ทำให้ระบบทิ้งน้ำมันหรือการทิ้งน้ำมันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับเครื่องบินทุกลำ
.
.
กลับมาที่เรื่อง หน้ากากออกซิเจน
🔷 1. เหตุผลที่ต้องมีหน้ากากออกซิเจนสำรองไว้ก็เพราะ
1.1- ที่เพดานบินสูงๆ (สูงกว่า 10000ฟุต) แรงดันอากาศและอากาศจะลดน้อยลงเรื่อยๆ -> เครื่องบินที่บินเกินความสูงนี้จึงต้องปรับแรงดันในห้องโดยสาร (cabin pressurization) ให้ไม่สูงกว่า 10000ฟุต (ในทางปฏิบัติจริง ๆ นักบินจะปรับให้ความดันในห้องโดยสารเทียบเท่าอากาศที่ความสูงไม่เกิน 8000ฟุต ต่อให้ขณะนั้นเครื่องบินจะบินอยู่ที่ความสูงมากถึงสามหมื่นหรือสี่หมื่นกว่าฟุตก็ตาม)
1.2- แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ระบบปรับความดันนี้เกิดเป็นอะไรขึ้นมาแล้วไม่มีการทำอะไรเลย -> ปริมาณอากาศและแรงดันในขณะนั้นจะมีไม่มากพอสำหรับการหายใจตามปกติ ทำให้เกิด hypoxia หมดสติได้ -> จึงมีการสำรองหน้ากากออกซิเจนเอาไว้ใช้ในกรณีนี้ <- นี่คือที่มาที่ไปว่าทำไมเครื่องบินโดยสารส่วนใหญ่ต้องมีหน้ากากออกซิเจน (และเครื่องบินบางลำ(ที่บินไม่เกินหนึ่งหมื่นฟุตไม่มี)) แต่แค่นั้นยังไม่พอ ! แค่หน้ากากออกซิเจนเท่านั้นยังไม่พอ !

1.3- อย่าลืมนะคะว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ "ยิ่งสูงอากาศยิ่งเบาบาง" และหน้ากากออกซิเจนสำหรับผู้โดยสารออกแบบมาให้ใช้งานแค่ประมาณ 15นาที (แต่ของนักบินที่เป็นหน้ากากออกซิเจนอีกแบบ จะสามารถใช้งานได้นานกว่านี้) การปล่อยหน้ากากออกซิเจนลงมาเฉยๆที่ระดับเพดานบินเท่าเดิมเสมือนการโยนออกซิเจนให้คนที่จมน้ำแล้วยังทิ้งให้เขาให้จมอยู่ที่ระดับเดิม

1.4- สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นจึงเป็นการที่นักบินจะรีบลดเพดานบินให้ไปถึงระดับความสูง*ที่ทุกคนสามารถหายใจได้ตามปกติโดยไม่ต้องพึ่งทั้งระบบปรับความดันและหน้ากากออกซิเจน -> ซึ่ง*ระดับความสูงที่ว่านั้นคือประมาณ 10000ฟุต นี่เป็นที่มาของรูปที่ 3 <- ถ้าเป็นในซีรีส์/หนัง/ละคร การรีบลดเพดานบินลงหลังปล่อยหน้ากากออกซิเจนนี้จะเร้าอารมณ์คนดูมาก หลายคนจะหัวใจเต้นตึกตักแต่ถ้าหญิงอยู่ในสถานการณ์ หญิงจะเฉยๆกับซีนนี้ ถ้าจะตกใจหญิงจะตกใจในกรณีที่หน้ากากออกซิเจนปล่อยลงมาแล้วเครื่องบินยังไม่ลดเพดานบินลงมามากกว่า ฉะนั้น... สมมตินะคะสมมติ สมมติว่าเรื่องสมมตินี้เป็นจริง สมมติว่าคุณผู้อ่านเจอสถานการณ์ที่หน้ากากออกซิเจนปล่อยลงมาตอนเครื่องบินบินอยู่ที่สูง ๆ แล้วมองออกไปข้างนอกแล้วพบว่าความสูงของเครื่องบินไม่ได้ลดลง แบบนี้ขอแนะนำให้แจ้งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อให้ทางแอร์โฮสเตส/สจ๊วตประสานงานกับนักบินต่อไป รีบแจ้งได้เลยนะคะไม่ต้องเขินอาย ถ้ายังไม่กล้าบอกว่าหญิงบอกไว้ก็ได้ค่ะ 😁

1.5- แล้วหลังจากนั้น เมื่อเครื่องบินลดความสูงมาอยู่ที่ไม่เกิน 10000ฟุต ผู้โดยสารทุกคนก็ถอดหน้ากากออกซิเจนออกได้ (เฮ้ยลืมไป! ไม่ใช่แค่ถอดออกได้ค่ะ แต่ต้องถอดเลยแหละเพราะระบบหน้ากากออกซิเจนออกแบบมาแบบนี้) แล้วหายใจตามปกติ ตอนนี้ทุกอย่างปกติแล้ว -> ทำไมปกติ?... เพราะหน้ากากออกซิเจนปล่อยลงมาด้วยเรื่องของอากาศ ณ ที่สูง เมื่อตอนนี้อยู่ในที่สูงที่สามารถหายใจได้เองแล้วก็เท่ากับว่าทุกอย่างปกติไม่มีอะไรให้ต้องกังวล -> และใช่ค่ะ... ถ้าหลังจากนั้นเครื่องบินยังไม่ได้ลงจอดคือไม่ต้องตกใจไม่ต้องบอกแอร์โฮสเตส/สจ๊วตก็ได้ (หากกังวลก็สอบถามดูเป็นข้อมูลได้ แต่โดยทั่วไปถ้าเกิดสถานการณ์แบบนี้จริงเมื่อไหร่ก็ตามที่นักบินจัดการงาน(ที่ตอนนั้นค่อนข้างจะวุ่นวายปานกลางถึงมากที่สุด)ได้ และพอจะรู้กำหนดการลงจอด(ใหม่)แล้ว นักบินจะแจ้งพนักงานต้อนรับฯกับผู้โดยสาร) การยังคงบินอยู่โดยไม่รีบลงจอดหลังลดเพดานบินลงมามันปกติเช่นในเที่ยวบินนี้...

1.6+ สังเกตเส้นสีฟ้าใน Flightradar24 รูป 3 ด้านล่าง
เที่ยวบินนี้หลังจากที่ (คาดว่า) มีข้อขัดข้องบางอย่างที่ความสูงประมาณ 33000 ฟุต ในเวลาประมาณ 11:46 นักบินก็รีบลดความสูงมาที่ 10000ฟุต แล้วรักษาเพดานบินไว้ที่ความสูงหนึ่งหมื่นฟุตนี้อีกนานเกือบชั่วโมง(อาจจะเพื่อการทิ้งน้ำมันอยู่ระยะหนึ่งในช่วงเส้นสีฟ้าที่ลากยาว) ก่อนจะลดเพดานบินลงอีกครั้งแล้วลงจอดที่สนามบิน Frankfurt -> ข้อ 1.1 - 1.5 เกริ่นมาเพื่ออธิบายว่าทำไมต้อง 10000ฟุต?

1.7+ ทีนี้ในรูปที่ 2
ข้อความ "no oxygen masks were deployed during the flight" หมายความว่าอะไร?
- ความหมายในทางภาษาคือเที่ยวบินนี้ไม่ได้ปล่อยหน้ากากออกซิเจนลงมา
- ความหมายในทางเทคนิคคืออาจบ่งชี้ว่า 'a cabin pressurisation issue**' ที่กล่าวไว้ในบรรทัดบนอาจไม่ได้หมายถึงเครื่องบินไม่สามารถปรับแรงดันห้องโดยสารได้

**issue ที่เกิดขึ้น (ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเกิดปัญหาอะไร) อาจเป็นเพียงปัญหาอื่น เช่น ระบบ monitor ที่ติดตั้งเอาไว้เพื่อตรวจจับการทำงานของระบบปรับความดันในเรื่องร่าง ๆ (ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก) แจ้งเตือนขึ้นมาขณะที่ยังไม่ได้มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นเลย <- คือเครื่องบินจะออกแบบมาให้แจ้งเตือนก่อนค่ะ น้องจะเหมือนกับลูกช่างฟ้องที่มีอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ฟ้อง ยังไม่มีปัญหาก็ฟ้อง อะไรประมาณนี้

ที่มาข่าว
https://www.channelnewsasia.com/singapore/singapore-airlines-sia-flight-london-singapore-diverted-frankfurt-sq317-cabin-pressure-technical-issue-3099256

ลิ้งก์สำรองโพสต์นี้
http://www.airlinepilotstory.com/2022/11/blog-post.html