‘คุณเคยอยู่ในความมืดมิดไหม?’
ความมืดมิดที่ไม่มีแม้กระทั่งแสงจันทร์หรือแสงดาวสาดส่องให้พอรู้ว่า
มีอะไรอยู่เบื้องหน้า ในจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักบินของฉันมันเป็นแบบนั้น
ถ้าคุณเคย คุณจะเข้าใจความทรงจำที่ตรึงอยู่ในใจของฉัน
แต่ถ้าคำตอบของคุณคือไม่...
คืนนี้หรือคืนไหนในสักคืน คุณลองใช้ผ้าทึบสักผืนปิดตา
ขอให้ใครสักคนพาคุณออกไปที่ไหนสักที่ที่ไม่รู้จัก
ปล่อยคุณที่ยังคงปิดตาอยู่ลงไปเดินเท้าเปล่าที่ตรงนั้น
เดินไป...เดินมา...เดินมา...เดินไปด้วยตัวคนเดียวอยู่สัก 5-10นาที นั่นล่ะค่ะ...
คือความรู้สึกของฉัน
.
'ถ้าในครั้งหนึ่งฉันไม่ได้ผ่านการสอบแอร์โฮสเตสจนถึงรอบสุดท้าย
ฉันคงไม่ได้เป็นนักบิน'
นี่เป็นประโยคที่ฉันเคยกล่าวไปหลายครั้งเพราะสำหรับฉันมันสำคัญมาก
ชีวิตของฉันไม่ได้จู่ ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปเลย มันค่อย ๆ เปลี่ยนไปทีละน้อย ฉันค่อย ๆ
กระดึ๊บ ค่อย ๆ คืบคลาน ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่ลงมือทำ
ฉันหวาดกลัว
ฉันร้องไห้
ฉันรุ่มร้อน
ฉันหนาวสั่น
ฉันล้มเหลว
ฉันผิดพลาด
ฉันพ่ายแพ้มาหลายครั้ง
แต่เพราะฉันได้พบเจอกับพวกมัน ฉันจึงเปลี่ยนแปลง
.
ฉันเปลี่ยนไปอย่างไร?
หากใครไม่เคยรู้จักฉันในวันวานก็คงมองไม่เห็นภาพนั้น
แต่ก็ไม่เป็นไร ฉันจะพาทุกคนย้อนเวลากลับไปใน
5
4
3
2
Action
. .
กรุงเทพมหานคร เมื่อ 9 ปีก่อน
‘แอ๊ด...’
ลูกบิดตรงประตูห้องยาหมายเลข 10 เปิดออก
กลิ่นยาและเวชภัณฑ์ที่คุ้นเคยแตะจมูกที่มีแว่นพิงพำนักอยู่ตรงสัน
ห้องยาแห่งนั้นเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กราวเก้าตารางเมตรที่ทำให้ฉันซึ่งสูงกว่ามาตรฐานหญิงไทยอยู่นิดหน่อยเดินเข้าไปได้เพียงห้าก้าวก็ถึงส่วนที่ลึกที่สุดของห้องซึ่งมีแผ่นกระดาษขนาดเอสี่วางไว้ตรงกระจกใสบนช่องเก็บของนั่นแล้ว
ฉันขยับแว่นใสให้เข้าที่ขณะอ่านข้อความบนกระดาษใบนั้น
มันมีชื่อของฉันปรากฏอยู่ใน 'ตารางการทำงานเภสัชกรนอกเวลาราชการ (Part-time)'
ในช่องวันเสาร์และวันอาทิตย์จำนวนแปดวันจากที่มีทั้งหมดสิบวันแล้วเข้าใจได้ในทันทีว่า
“อื้ม เดือนหน้าว่างอยู่สองวัน ฉะนั้นก็ทำงานทั้งหมด
28วัน จะได้หยุดตั้ง 2วันแหน่ะ!”
ตอนนั้นเป็นเวลาแปดนาฬิกาสามสิบนาที
เมื่อเห็นว่ามีเวลาอีกกว่าครึ่งชั่วโมงถึงจะถึงเวลาเริ่มงาน
ฉันก็วางกระเป๋าที่ภายในมีโน้ตบุ๊คพร้อมกับเสื้อกาวน์และงานปึ๊งหนึ่งซึ่งค้างคามาจากงานที่ทำประจำทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ลงบนโต๊ะที่มีอยู่เพียงตัวเดียวในห้องก่อนจะก้าวขาห้าก้าวกลับออกไปยังประตูบานเดิม
"กรึ๊ก"
ฉันกดล็อคลูกบิดประตูบานเดียวของห้องยาหมายเลข 10 แล้วเดินออกไปจากอาคารสิบกว่าชั้น
จุดหมายของฉันคือร้านกาแฟประจำที่แวะอุดหนุนทุกครั้งก่อนเริ่มงาน
.
‘3ปีมาแล้วที่ฉันใช้ชีวิตแบบนี้’ ...
ชีวิตในฝันที่ฉันวาดไว้ตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมต้นก็ไม่มั่นใจนัก
เวลาเริ่มย้อนกลับไปอีกแล้ว
มันใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 –
18 ชั่วโมงด้วยการโดยสารรถไฟจาก 'สถานีรถไฟหัวลำโพง'
ไปยัง 'สถานีรถไฟชุมทางขอสงวนชื่อ' ซึ่งอยู่ใกล้บ้านต่างจังหวัดของฉันมากที่สุด
ส่วนเวลาเดินทางด้วยไทม์แมชชีนก็เป็นเวลาราว ๆ
ยี่สิบกว่าปี แต่ถึงแม้จะต้องย้อนเวลากลับไปอีกนานแต่คุณไม่ต้องกังวลไป
การมองหาฉันในตอนนั้นทำได้ไม่ยาก
นั่นไง...! เด็กหญิงร่างผอม ผิวสองสี ขอบตาดำคล้ำ
ไม่ใส่แว่น ตัดผมสั้นเสมอติ่งหูที่กำลังมองดูโลงศพที่ภายในมีร่างของหญิงวัยกลางคนตรงนั้นคือตัวฉันเอง
ฉันยืนอยู่ตรงหน้าโลงศพที่ยังไม่มีรูปผู้วายชนม์
ยังไม่มีดอกไม้ ยังไม่มีไฟประดับ ฉันยืนอยู่ตรงนั้นพร้อมกับคำถาม
‘เป็นไปได้ไหมว่า
ป้าอาจไม่ตายถ้ามียารักษาโรคที่แค่กินก็หายขาดได้ ยาที่แค่กินก็หายได้เลยโดยไม่ต้องรอคิวผ่าตัดที่ยาวเหยียด'
ฉันคิดแบบนั้นตั้งแต่ที่ย่าหยิบชุดลูกไม้ขนาดเล็กพิเศษที่เล็กมากจนฉันไม่สามารถยัดลำตัวเข้าไปได้ออกมาให้ดูพร้อมกับพูดภาษาถิ่นบอกฉันว่า
“เนี่ย...ป้ามึงตัดเตรียมไว้ กะจะใส่ไปวัดหลังผ่าตัด
แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ใส่”
สิ้นสุดประโยคนั้น ฉันก็วิ่งออกมาจากบ้านสองชั้นกึ่งปูนกึ่งไม้ที่มีชื่อปู่เป็นเจ้าของมายังบริเวณลานกว้างหน้าบ้านซึ่งเป็นลานกว้างหลังบ้านของฉันในเวลาเดียวกันที่ตรงนี้
‘ที่ซึ่งมีโลงศพของป้าวางอยู่’
.
ในภาพความทรงจำ
มันเป็นเวลายามเย็นที่ท้องฟ้าเริ่มมืดสนิท แสงไฟส่องสว่างให้ทางญาติและแขกที่เข้ามาร่วมงานสวดอภิธรรมมีเพียงแสงจากหลอดไฟสีขาวขนาดยาวที่ติดตั้งไว้เป็นระยะ
ๆ
ที่ต่างจังหวัดนอกเขตเทศบาลบ้านฉัน
เมื่อมืดแล้วก็คือมืด ไม่มีแสงไฟใด ๆ
ส่องสว่างให้ทางเหมือนอย่างในกรุงเทพมหานครหรือในตัวเมืองหรอก
แสงที่มีส่องสว่างยามค่ำคืนแบบนี้ เมื่อมี ณ ที่แห่งใดก็หมายความว่า
'ที่แห่งนั้นกำลังมีงานอะไรบางอย่าง'
แล้วนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ฉันได้อยู่ในงานที่มีร่างคนตายวางอยู่หลังบ้าน
และถึงแม้ว่า ก่อนหน้านั้นฉันจะชอบพูดคุยกับป้าจนรู้สึกสนิทเสมือนเพื่อน
ในส่วนของผ้าลูกไม้ที่ถูกตัดเตรียมพร้อมสำหรับสวมใส่ก็ไม่มีวันได้ถูกใช้งานจะบีบคั้นหัวใจ
แต่ในขณะนั้นฉันก็ยังไม่ร้องไห้
ฉันเป็นลูกสาวคนเดียวและน้องสาวคนเล็กในบรรดาพี่น้อง
3 คนที่นิยามตัวเองว่า
'ฉันเข้มแข็ง ฉันไม่ขี้แย'
เมื่อเป็นเช่นนั้นฉันจึงพยายามแข็งใจไม่ให้หยดน้ำใส
ๆ ในตาที่พยายามออกมาสัมผัสบรรยากาศโลกมาแล้วหลายครั้งกระทำได้สำเร็จ
แต่แล้วในนาทีที่พระเริ่มสวดอภิธรรม
ฉันที่มองกลับไปในบ้านของปู่กับย่าซึ่งป้าเคยอาศัยอยู่
การเห็นภาพชายชราอดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเป็นปู่ของฉัน
ปู่ผู้ที่ฉันจดจำมาโดยตลอดว่า ปู่คือฮีโร่
ปู่คือนักสู้ผู้แข็งแกร่งและฉันจะแข็งแกร่งให้ได้แบบปู่นั่งประคองมือขึ้นมาพนมด้วยสายตาว่างเปล่ามันทำให้ฉันไม่ไหว
คำถามมากมายพรั่งพรูมาอีกครั้งในขณะที่น้ำในตาเอ่อล้นออกมา
‘ทำไมมันไม่มียาที่รักษาโรคนี้ได้
เพราะถ้าหากมีผู้ป่วยก็จะเข้าถึงการรักษาไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน’
‘และถ้าทำได้
อาจมีพ่อแม่อีกหลายคนที่ไม่ต้องไหว้ศพลูกตัวเอง’
เรื่องราวในตอนนั้นมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันอยากเป็นเภสัชกรและแน่วแน่ตั้งแต่ในตอนที่ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
และในความฝันนั้น
ฉันเจาะจงการเป็นเภสัชกรที่ทำหน้าที่ผลิตยา
แล้วที่ผ่านมาทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ตลอดระยะเวลาสามปีฉันก็ทำแบบนั้น
. .
ภาพจากไทม์แมชชีนค่อย ๆ เลือนลาง
ภาพทุ่งนาสีเขียวขจีที่หน้าบ้านกับภาพฝูงวัวที่เดินผ่านในเช้าวันใหม่พร้อมกับแสงอาทิตย์ยามเช้าค่อย
ๆ แปรเปลี่ยนเป็นตึกรามบ้านช่องที่ทั้งแออัดและสูงเสียดฟ้า ฉันอยู่ที่นั่น 3ปี จนเกือบจะลืมไปว่า
'ภาพดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่างอยู่เบื้องหลังภูเขาคละเคล้ากลิ่นดินอย่างที่เคยเห็นและได้กลิ่นประจำนั้นมันเป็นอย่างไร?'
นอกจากภูเขา คันนา นาข้าว
ที่แห่งนี้ก็ไม่มีฝูงวัวพร้อมกับเสียง 'กรุ๊งกริ๊ง' ที่ดังมาจากกระดิ่งที่ห้อยอยู่ที่คอของวัวอีกแล้ว
มีแต่เพียงผู้คนที่สวมสายห้อยคอเดินสวนกันขวักไขว่ไปมา
มันเป็นเวลา 3ปี ที่ฉันได้ใช้ชีวิตในความฝัน แต่บางครั้งฉันกลับรู้สึกว่า
เหมือนมีอะไรขาดหายไป
ฉันอยู่ในความฝันแต่เหมือนยังไม่ถึงความฝัน
. .
‘การผลิตยาใหม่ที่โลกนี้ยังไม่ค้นพบนั้นมันต้องใช้เงินทุนและความพร้อมในหลายด้านมาก
และในตอนนี้ประเทศของเรายังไม่มีโอกาสที่จะไปถึงจุดนั้นและมันคงยากที่จะเกิดขึ้น’
บทสรุปนี้ทำให้ฉันต้องทบทวนอยู่หลายครั้งว่า
จะทำอย่างไรต่อ?
และสุดท้ายฉันก็ยังอยู่ในที่ที่ใกล้เคียงกับความฝันต่อไปโดยเปลี่ยนเป้าหมายจากการคิดค้นยาใหม่
ๆ ที่โลกยังไม่ค้นพบไปเป็น การผลิตวัคซีนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน
.
‘3ปีมาแล้วที่ฉันใช้ชีวิตแบบนี้’
ตอนนั้นที่ฉันย้ายมาใช้ชีวิตที่กรุงเทพมหานครโดยลำพัง
ฉันจะใช้เวลาทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ไปกับงานประจำที่มุ่งมั่นกับการผลิตวัคซีนออกมาใช้ในประเทศ
สิ่งตอบแทนที่ฉันได้รับ นอกจากความหวังว่า 'จะได้เห็นคนไทยใช้วัคซีนที่ฉันเฝ้าฟูมฟักมาตั้งแต่ไก่ยังไม่ออกจากไข่ในสักวัน'
ก็คือรายได้ในทุก ๆ สิ้นเดือนซึ่งทันทีที่ได้รับฉันก็จะใช้เงินราว ๆ
30% ของทั้งหมดจ่ายค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ
ค่าโทรศัพท์และเก็บไว้สำหรับค่าเดินทางของเดือนถัดไป
ค่าใช้จ่ายเพื่อการอยู่อาศัย
การสื่อสารและการเดินทางกว่าหนึ่งในสามของรายได้มันดูเหมือนจะเป็นอัตราส่วนที่เยอะ
แต่จริง ๆ ฉันคิดว่ามันเป็นเพราะรายได้ต่อเดือนของฉันในตอนนั้นยังน้อยเสียมากกว่า
อื้ม...จริง ๆ ฉันก็ไม่แน่ใจนะว่า
เงินประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันบาทในสมัยนั้นสำหรับคุณมันควรเรียกว่า
มากหรือน้อยหรืออย่างไร?
“เป็นไปไม่ได้หรอกเธอ ก็รู้กันอยู่ว่าคนเป็นเภสัชกรแค่ค่าใบประกอบวิชาชีพก็ได้เริ่มต้นหลายพันบาทแล้ว”
“ก็ใช่...ถ้าได้ก็เริ่มต้นที่ห้าพันบาท
แต่ฉันไม่ได้ค่าใบประกอบวิชาชีพน่ะ”
“เอ้า เธอไม่มีใบประกอบฯเหรอ? ถ้ามีก็ต้องได้สิ!”
“ฉันมี แต่อืม...ช่างมันเถอะ”
พูดถึงตอนนี้ดูเหมือนกับว่า
เรื่องเงินจะเป็นสิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกกับฉันอยู่ไม่น้อย ใช่แล้ว...มันมีผล
มันมีผลตอนที่มองจำนวนเงินเก็บในบัญชีออมทรัพย์แล้วคิดถึงการตีค่าความสามารถคนด้วยรายได้
‘คนเก่งจริงไม่ทนทำงานที่มันรายได้น้อย ๆ หรอก’
มันมีผลเมื่อคิดว่าอีกสิบปีฉันจะมีเงินเก็บอีกเท่าไหร่
เงินก้อนนั้นจะทำให้ฉันที่เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถก้าวผ่านคำว่า 'พึ่งพาตัวเองได้'
ไปเป็น 'เป็นที่พึ่งพาให้กับคนอื่น' ได้ไหม?
และมันก็มีผลเมื่อมีคำถามต่อไปว่า “แล้วเธอทนทำไปเพื่ออะไร?”
เกิดขึ้น
นั่นสินะ ฉันจะทำต่อไปเพื่ออะไร?
. .
“เพื่อความฝันไง”
ฝันที่จะได้เห็นคนไทยใช้วัคซีนที่ฉันทำ
เพื่อความสบายใจของครอบครัวที่เห็นฉันทำงานราชการ
ฉันเข้าใจนะว่าในมุมมองใครหลายคนการทำงานราชการมันดีแค่ไหน
และจะว่าไปแผนกที่ฉันทำอยู่
นอกจากฉันกับเพื่อนเภสัชกรที่เหลืออยู่อีกหนึ่งคนจากที่เคยมีกันอยู่สี่คนก็มีเพียงเภสัชกรระดับหัวหน้าอีกเพียงคนเดียวเท่านั้น
ถ้าฉันทำต่อฉันก็พอจะมองเห็นภาพที่ตัวเองกับเพื่อนครองตำแหน่งหัวหน้าในอนาคต
นอกจากนั้นโอกาสในการได้ไปศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาต่อยอดความรู้ในที่ต่าง
ๆ ทั้งในและนอกประเทศก็มีเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ
และที่สำคัญเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และผู้ช่วยนักวิทยาศาสตร์ในทีมที่ทำงานด้วยกันก็มีความสัมพันธ์กับฉันดีมาก
นั่นคือเหตุผลที่ฉันตอบตัวเอง
เหตุผลหลายข้อที่ทำให้ข้อเสียที่ที่แห่งนั้นมีรายได้น้อยกว่าที่อื่นลดทอนลงไป
.
เรื่องเงิน
ฉันไม่รู้ว่าฉันมักน้อยหรือโลกสวย แต่ชีวิตที่เติบโตมาบนคันนามันทำให้ฉันรู้สึกว่า
‘เงินไม่ได้มีอิทธิพลกับฉันมากนัก’
ฉันไม่อยากจะรวยล้นฟ้า
แค่ขอให้มีมันมากพอสำหรับการไม่ต้องคิดว่า
'พรุ่งนี้จะเอาเงินที่ไหนกินข้าว?'
'จะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าที่ซุกหัวนอน?'
ฉันหวังแค่ให้ได้มีมันมากพอเพื่อตอบสนองความอยากได้
อยากมี อยากเป็นของตัวเอง แล้วเหลือส่วนหนึ่งสำรองไว้ให้ภาคภูมิใจว่า
เราพร้อมเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่น ...แค่นั้นก็พอแล้ว
นั่นคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ฉันตอบพี่หัวหน้าเภสัชกรตอนขึ้นไปดูระบบโรงงานที่ดาดฟ้าด้วยกันว่า
‘ฉันตั้งใจจะเป็นเภสัชกรประจำที่นั่นต่อไปจนวันเกษียณ’
ส่วนเรื่องเงินนั้น... ฉันจะหาเพิ่มจากงาน Part-time นอกเวลาราชการ
.
ด้วยเหตุนั้น ในทุก ๆ วันจันทร์ถึงศุกร์ในเวลาราชการ
ภารกิจประจำวันของฉันจึงคือการตื่นขึ้นมาไปทำงานที่โรงงานผลิตยา
พอถึงเวลาราชการและทุกวันเสาร์กับอาทิตย์ ฉันก็จะไปทำงาน
Part-time ที่ร้านยาบ้าง
ที่สอนพิเศษบ้าง
ฉันทำอยู่แบบนั้นเกือบทุกวัน วันละสิบกว่าชั่วโมง
จนในปีที่สามของการทำงานที่ฉันต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานใหม่
ฉันต้องเดินทางไปมาระหว่างโรงงานผลิตยานั่นกับ
Pilot
plant ที่ต่างจังหวัด
ทำให้ตั้งแต่นั้นในทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ฉันต้องให้เวลากับงานประจำไปทั้งหมด
ทำงานประจำจนกระทั่งงานอนุญาตให้ฉันกลับไปพัก
กล่าวราตรีสวัสดิ์และโอยาสุมินาไซกับคนในทีม
พอถึงวันเสาร์และอาทิตย์ฉันก็จะมาใช้ชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งนี้
.
ตอนนี้กาแฟออนไอซ์อเมริกาโน่วางอยู่ที่เบื้องหลังเคาท์เตอร์ห้องจ่ายยาหมายเลข
10 เป็นที่เรียบร้อย
เหลือเวลาอีก 5นาทีก็จะถึงเวลาเริ่มงาน
ฉันหยิบโน้ตบุ๊คพร้อมกับงานปึ๊งหนึ่งที่เตรียมมาทำต่อในเวลาว่างออกจากกระเป๋ามาวางไว้ใกล้ตัว
แล้วในช่วงเวลาหนึ่งที่ฉันนั่งอยู่ตรงนั้น ข้อความบางอย่างก็ปรากฏขึ้นมาตรงหน้า
.
‘สายการบินมะม่วงรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตำแหน่งแอร์โฮสเตสและสจ๊วต
คุณสมบัติผู้สมัครเพศหญิงข้อที่ 1. อายุไม่เกิน 26ปี’
“โห...ปีนี้เราอายุ 26ปีพอดี
เอายังไงดีเนี่ย!”